พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น
Natural History Museum


ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่นเกิดขึ้นจากการเห็นคุณค่ากองขยะตัวอย่างที่ไม่มีชีวิตและไม่มีมูลค่า แต่ด้วยการสนับสนุนของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่องอาคารสถานที่ และงบประมาณ ทำให้ขยะตัวอย่างไม่มีชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า มีชีวิตและวิญญาณขึ้นมา สามารถบอกเรื่องราวสู่ผู้คน โดยมีการพัฒนาการทำงานและเปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์มาตามลำดับ ดังนี้
ปี 2545 ภายใต้ชื่อ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและศูนย์พืชท้องถิ่น การทำงานเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และการร่วมทำงานวิจัยกับเครือข่าย ในส่วนที่ 1 การเก็บรักษาตัวอย่าง ได้แก่ ตัวอย่างสัตว์อ้างอิง จำนวน 3 ห้อง และห้องจัดแสดงสมุนไพร 1 ห้อง ส่วนที่ 2 การมีส่วนร่วมในการวิจัย ได้แก่ การวิจัยอ่าวปัตตานี การวิจัยพรุลานควาย และการวิจัยเรื่องหอย ร่วมกับ ดร.เคส สเวนเนน จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลจากการได้ร่วมงานวิจัยดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการในท้องถิ่นมาประกอบการจัดแสดง เป็นเรื่องราวของตัวอย่างให้มีความหมาย มีชีวิตจิตวิญญาณมากขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยเรื่องหอย ทำให้ได้ตัวอย่างหอยในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเป็นจำนวนมาก จนสามารถจัดแสดงตัวอย่างหอยเพื่อการอ้างอิงได้ 1 ห้อง หนังสือหอยอ่าวไทยตอนล่าง (The Molluscs of the Southern Gulf of Thailand) 1 เล่ม ในช่วงเริ่มต้นนี้ งานส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการจัดระบบ ระเบียบข้อมูล และตัวอย่างการจัดแสดงให้ผู้คนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้
ปี 2546-2547 ภายใต้เดิม พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและพรรณไม้ท้องถิ่น การทำงานก็ยังเป็นไปในลักษณะเดียวกับปีแรกที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์ ได้แก่ ข้อมูลชื่อตัวอย่างทั้งชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ รูปแบบการจัดแสดง การเก็บรักษาตัวอย่าง รวมถึงการแปลตำรายาสมุนไพร มีคุณค่าทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราการแพทย์แผนโบราณของหมอทัศน์ อุทัยพันธุ์ ร่วมงานวิจัยเก็บข้อมูลกับแผนกชีววิทยาเพื่อจัดทำแผนแม่บทอ่าวปัตตานี ปี 2548 ภายใต้ชื่อที่ปรับเปลี่ยนใหม่ ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติวิทยาและศูนย์สมุนไพรท้องถิ่น แต่การทำงานในลักษณะที่ผ่านมาก็ยังคงพัฒนาต่อให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีงานใหม่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การเก็บรวบรวมตัวอย่างเพิ่ม ปรับปรุงและพัฒนาห้องเก็บเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในอดีต งานด้านการบริการชุมชน ภายใต้โครงการต่างๆ เช่น โครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร งานเครือข่ายป่าเขตร้อนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก SGP/PTF UNDP และปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารของหน่วยงาน โดยมีพิพิธภัณฑ์ญาณโมลี พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของแผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง และเครือข่ายชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างมากยิ่งขึ้น
ปี 2549 – 2550 ภายใต้ชื่อ พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติท้องถิ่น เริ่มมองเห็นแนวทางในการทำงานของหน่วยงานมากขึ้น ใน 5 ภารกิจ ได้แก่
- งานดูแลรักษา และเก็บตัวอย่างสัตว์และพืช มีห้องจัดแสดงตัวอย่างสัตว์ 3 ห้อง ห้องจัดแสดงสมุนไพร 1 ห้อง และห้องเตรียมตัวอย่าง 1 ห้อง
- งานสนับสนุนการเรียนการสอน ที่เกิดจากภารกิจ 1 และการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนทำให้พิพิธภัณฑ์ฯมีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการและพื้นที่ชุมชนศึกษาที่สามารถบูรณาการกับรายวิชาต่างๆ ได้แก่ วิชานิเวศวิทยา, วิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, วิชาเทคนิคทางชีววิทยา, และวิชาชีววิทยา จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในรายวิชาต่างๆ ได้อีกแหล่งหนึ่ง รวมถึงผู้สนใจและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ ตามวาระโอกาสต่าง ๆ
- งานบริการวิชาการชุมชน ภายใต้กิจกรรมต่างๆ ได้แก่ โครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร ค่ายดูนกกิจกรรมสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ กิจกรรมวันเด็ก พิพิธภัณฑ์ฯได้มีส่วนร่วมในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นระดับประถม เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น
- งานวิจัย ได้แก่ โครงการส่งเสริมความสัมพันธ์เครือข่าย ป่าพรุ-สันทราย-ชายเลนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาการจัดการป่าให้เกิดความยั่งยืนและโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำสุไหงโกลกโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สร้างแหล่งเรียนรู้ในลักษณะอาศรมความรู้ เช่น เรือนเพาะชำ แหล่งดูนก เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ปี 2550-ปัจจุบัน ภายใต้ชื่อใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ หน่วยงานพิพิธภัณฑ์ฯ ยังคงดำเนินงานภายใต้ภารกิจหลักทั้ง 5 และมีความเข้มขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้โครงการบริการวิชาการ “ยุววิจัย” ซึ่งเป็นโครงการที่พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ได้ร่วมเป็นภาคีหนึ่งในโครงการวิจัยลุ่มน้ำสายบุรีระยะที่ 1-2 และโครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพแก่ชายและหญิงที่เปราะบางในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างอ้างอิงสัตว์และสมุนไพรท้องถิ่น
- เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการกับชุมชน
- เพื่อเป็นหน่วยค้นหาข้อมูล การจัดการองค์ความรู้ โดยการวิจัยแบบบูรณาการ
- เพื่อเป็นฐานข้อมูลท้องถิ่น สำหรับงานวิจัยและการเรียนรู้ท้องถิ่น
- เพื่อสร้างเครือข่ายอาศรมเรียนรู้ในท้องถิ่นให้กว้างขึ้น
วิสัยทัศน์ พันธกิจ
วิสัยทัศน์
บูรณาการการพัฒนาเพื่อความสุของค์รวม และความยั่งยืนของท้องถิ่น ภายใต้ความมั่นคงของฐานทรัพยากร
พันธกิจ
- ดูแล รักษา เก็บรวบรวม ตัวอย่างอ้างอิงสัตว์และสมุนไพรท้องถิ่น
- สร้างเครือข่ายเรียนรู้และบริการวิชาการชุมชน
- สร้างอาศรมเรียนรู้
- สนับสนุนงานการเรียนการสอนและการวิจัย
กระบวนการทำงาน
คิดแบบวิทยาศาสตร์ ทำงานแบบสังคมศาสตร์ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้
ปรัชญาการทำงาน
ธรรมชาติคือครู ชุมชนคือแหล่งเรียนรู้
ภารกิจ
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มอ.ปัตตานี
- ยุววิจัย
- ยุวฑูตพิพิธภัณฑ์
- พิพิธภัณฑ์สัญจร
- เปิดบ้านพิพิธภัณฑ์
- สำรวจความหลากหลายของทากทะเล
- เรือนเพาะชำกล้าไม้
- บริการวิชาการ
ข้อมูลการติดต่อ
พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
181 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี 94000โทรศัพท์ 0-7331-3928-45 ต่อ 1938 หรือ 084-691-2806