Preaload Image
Back

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาเทคโนโลยีพอลิเมอร์
M.Sc. (Polymer Technology)

ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ผลิตมหาบัณฑิตให้มีพื้นฐานความรู้ ทักษะการแก้ไขปัญหาเชิงลึก และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ โดยให้ความสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากยางพาราที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

หลักสูตร วท.ม. สาขาวิชาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตมหาบัณฑิตมีคุณลักษณะดังนี้

  1. มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถวินิจฉัยอย่างผู้รู้ด้วยความยุติธรรม ชัดเจน มีค่านิยมที่ดีงาม
  2. มีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้และทันสมัย ในสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ โดยเน้นเทคโนโลยียางพารา มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้
  3. มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สามารถตัดสินใจในการดำเนินงานได้ด้วยตนเอง และมีความสามารถในการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง
  4. มีความรับผิดชอบสูงในหน้าที่ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี
  5. มีความสามารถในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมในการค้นคว้า วางแผน ดำเนินการวิจัย นำเสนอผลงาน และการติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

จุดเด่นของหลักสูตร

หลักสูตร วทม. สาขาวิชาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และวิจัยด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก โดยเน้นผลิตภัณฑ์ยางล้อ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยางและถุงยางอนามัย บัณฑิตจากหลักสูตรสามารถปฏิบัติงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First s-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (เช่น ไบโอพลาสติกและวัสดุอัจฉริยะ) นอกจากนี้หลักสูตรมีการบูรณาการการวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์กับภาคอุตสาหกรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจที่จะพัฒนาตนเองในการเป็นผู้ประกอบการด้านยางและพลาสติก สามารถเลือกเรียนชุดวิชาโมดูลได้

  • การพัฒนาวัสดุนาโนคอมพอสิต วัสดุฉลาด พอลิเมอร์นำไฟฟ้า และเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์
  • เทคโนโลยีการเสริมแรงในยาง เน้นการพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมยางล้อ
  • เทคโนโลยีการรีไซเคิลยาง และเทคโนโลยียางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของยางและพอลิเมอร์เพื่อการใช้งานรูปแบบใหม่
  • เทคโนโลยีน้ำยาง

นักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์หรือยางทั้งในสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชน นักเทคโนโลยีพอลิเมอร์หรือนักเทคโนโลยียางในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีพอลิเมอร์หรือยาง

(1) แผน  ก  แบบ ก 1 36 หน่วยกิต
·        วิทยานิพนธ์ 36 หน่วยกิต
(2) แผน  ก  แบบ ก 2 36 หน่วยกิต
·        หมวดวิชาบังคับ 10 หน่วยกิต
·        หมวดวิชาเลือก 8 หน่วยกิต
·        วิทยานิพนธ์ 18 หน่วยกิต

รายละเอียดของรายวิชาและแผนการเรียน สามารถอ่านได้ที่

(1) แผน ก แบบ ก 1

เป็นผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 หรือเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่าและเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยหรือมีประสบการณ์ทำงานในภาคอุตสาหกรรมในสาขาเทคโนโลยียางหรือพอลิเมอร์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยนักศึกษาที่ประสงค์เรียนในหลักสูตรแผน ก แบบ ก 1 ต้องผ่านการสอบคัดเลือกข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และมีจดหมายแนะนำจากอาจารย์ผู้เคยสอนหรือที่ทำงาน

(2) แผน ก แบบ ก 2

เป็นผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตหรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหรือเทียบเท่า ในกรณีที่นักศึกษามีคะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 3.00 จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตร คุณสมบัติอื่นนอกเหนือจากข้อ (2) ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร

มหาบัณฑิตมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สามารถเข้าทำงานทั้งในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมยางและพลาสติก มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว 99 ราย มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 60 เรื่อง และมีผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยซึ่งเป็นผู้ร่วมให้ทุน

  • มีผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
  • มีผลงานตีพิมพ์ที่เกิดจากผลงานวิจัยในวาสารวิชาการระดับนานาชาติฐาน Web of Science และ SCOPUS จำนวนมาก
  • รางวัลวิทยานิพนธ์ชมเชยระดับปริญญาโทกลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพของมหาวิทยาลัย ประจำปีพ.ศ. 2562
  • ศิษย์เก่าของหลักสูตรได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ปี พ.ศ.2562
  • นักศึกษาในหลักสูตรเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการ SME-D scale up rubber hakathon ประจำปีพ.ศ. 2561 และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค
  • นักศึกษาในหลักสูตรเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to market, R2M) ครั้งที่ 9 (ประจำปีพ.ศ. 2561) และครั้งที่ 10 (ประจำปีพ.ศ. 2562) และผ่านเข้าสู่รอบภูมิภาค
  • มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น สังคมและภาคอุตสาหกรรม

ข้อมูลติดต่อ

ประธานหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุบฮาน  สาและ
Email :  subhan.s@psu.ac.th


บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์